พบพะยูนตายเพิ่มขึ้นมากในปี 2567

ธ.ค.ที่ผ่านมา ถึง ต้นปี 2567 เราพบพะยูนตาย ถึง 3 ตัว นับเป็นอีกเหตุการณ์ผิดปกติมาก
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 67 เวลาประมาณ11 .00 น
มีพะยูนตายลอยน้ำเข้ามาติดฝั่งใต้ถุนบ้านของชาวบ้าน ณ เกาะลิบง จ.ตรัง เป็นเพศผู้ ความยาวประมาณ2 เมตร น้ำหนักประมาณ70กิโลกรัม
อ้างอิงจากผลชันสูตรตัวที่พบก่อนหน้า พบว่า
ภายนอก สภาพที่พบค่อนข้างเริ่มเน่า ร่างกายค่อนข้างซูบผอม ภายนอกพบเขี้ยวพะยูน ซึ่งอาจเกิดจากพฤติกรรมฝูง มีเพรียงเกาะรอบตัว ภายในปากพบหญ้าทะเลเล็กน้อย ไม่พบบาดแผลฉกรรจ์อื่นๆ คล้ายคลึงกันใน 2 ตัวแรก
ภายในของซากพะยูนที่พบมีความคล้ายคลึงกันคือ ในกระเพาะอาหาร พบเศษหญ้าทะเลเล็กน้อย และพยาธิตัวกลมจำนวนมาก รวมถึง เศษอวน เศษพลาสติกอ่อน ผนังกระเพาะอาหารหลุดลอกบางส่วน ผนังลำไส้เล็กพบจุดเนื้อตายเป็นหนองและลำไส้หลุดลอก
การตายของพะยูนในช่วงนี้นับว่ามีความถี่ขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก ธรรมชาติกำลังส่งสัญญาณเตือนว่า มีความผิดปกติเกิดขึ้นในท้องทะเล ซึ่งอาจจะมาจากหลากหลายสาเหตุของบริบทและสภาพแวดล้อมต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไป
คุณภาพน้ำในทะเลจากการขยายตัวของครัวเรือน กิจกรรมการท่องเที่ยวโรงงานยางพารามีการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเลมากยิ่งขึ้น การขุดลอกแม่น้ำที่อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทั้งระบบ
ความไม่สมดุลของห่วงโซ่อาหารในปัจจุบัน และแหล่งอาหารของสัตว์ทะเลที่กำลังเกิดวิกฤติ (หญ้าทะเล) ที่อาจเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่ง ที่ทำให้สภาวะขาดแคลนอาหารอาจเกิดขึ้นได้
และที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ ภัยคุกคามจากไมโครพลาสติกและขยะทะเล ที่เข้าไปอยู่ในกระเพาะของพะยูน และผลชันสูตรในหลายๆตัว เป็นตัวการสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้พะยูนต้องตายลง
จะเห็นได้ว่ามีหลากหลายสาเหตุทีเดียว ที่เราควรที่จะหันกลับมาใส่ใจ ให้ความสำคัญ และตระหนัก ในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติให้มากยิ่งขึ้น
เรื่องราวเหล่านี้ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด การที่พะยูนตาย สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ท้องทะเล และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
สุดท้ายทุกคนควรทำอย่างไร ถึงจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ได้อย่างยั่งยืน…
 

Share:

Facebook
Twitter
Pinterest
LinkedIn