พลังงานฟรีๆที่ไม่มีค่าใช้จ่าย สู่การพัฒนาระบบสาธารณสุขอย่างยั่งยืน

พลังงานเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานที่ใช้ในการอยู่อาศัย การเดินทาง การประกอบอาหาร ฯลฯ นับวันมนุษย์ยิ่งจะมีแต่ความต้องการในการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหมายถึงว่าจะมีการดึงพลังงานมาจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการในการใช้งาน โดยเฉพาะเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ หินน้ำมัน และทรายน้ำมัน เป็นต้น ดังนั้น มนุษย์จึงต้องริเริ่มการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างรู้คุณค่าและยังคงเหลือไว้ให้คนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์ต่อด้วย ปัจจุบัน แหล่งพลังงานหมุนเวียนเป็นจึงกลายเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกที่นำมาใช้ทดแทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และจะเป็นแหล่งพลังงานที่มีบทบาทสำคัญมากขึ้นในอนาคต

 

พลังงานหมุนเวียน คืออะไร

พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) คือ พลังงานที่ใช้แล้วไม่หมดไป สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เนื่องจากเป็นพลังงานที่ได้จากแหล่งพลังงานที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง เช่น แสงอาทิตย์ ลม น้ำ ความร้อนใต้พิภพ ชีวมวล และก๊าซชีวภาพ รวมถึงผลผลิตและวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น แกลบ ใบ ลำต้นและชานอ้อย กากมันสำปะหลัง หรือมูลสัตว์ ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และสามารถสร้างขึ้นทดแทนได้ในระยะเวลาอันสั้น โดยพลังงานหมุนเวียนนี้ถือเป็นพลังงานสะอาด ไม่เป็นการเพิ่มก๊าซเรือนกระจกให้กับโลก แตกต่างกับพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่มีอยู่จำกัดและสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมจากก๊าซมีเทนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาระหว่างเผาไหม้และก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างต่อสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศของโลก

ปัจจุบัน เราสามารถนำพลังงานหมุนเวียนไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างหลากหลายทั้งการผลิตความร้อน ผลิตเชื้อเพลิง และที่สำคัญคือการผลิตกระแสไฟฟ้าทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานเดิมที่อาจหมดไปในอนาคตอันใกล้นี้ โดยพลังงานหมุนเวียนยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และช่วยลดปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมของโลก เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาดที่สามารถนำมาใช้ทดแทนพลังงานแบบเดิมได้อย่างไม่จำกัด ทั้งยังหาได้จากธรรมชาติและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง

ข้อดีของการใช้พลังงานหมุนเวียน

  • เป็นแหล่งพลังงานที่ไม่มีต้นทุน สามารถผลิตและหมุนเวียนนำกลับมาใช้เพื่อการอุปโภคและสาธารณูปโภคแทนแหล่งพลังงานเดิมได้เรื่อย ๆ โดยไม่มีวันหมดไป
  • เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดผลกระทบ จากการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกโลก มลภาวะ และมลพิษที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมอันเกิดจากกระบวนการแปรรูปเชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นพลังงาน
  • ทำให้สภาวะเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น เนื่องจากสามารถผลิตพลังงานใช้เองได้ ลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงต่างประเทศ และสามารถกระจายรายได้ไปสู่ประชากรอย่างดีโดยไม่ทำลายวิถีชีวิตที่ยั่งยืนของชุมชน
  • ช่วยให้มนุษย์มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นจากการลดลงของผลกระทบต่าง ๆ ในการใช้พลังงาน ซึ่งมักก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม

พลังงานหมุนเวียนกับประเทศไทยในปัจจุบัน

ประเทศไทย มุ่งมั่นสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 ตามนโยบายและแผนพลังงานหมุนเวียนของประเทศไทย ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ซึ่งหมายถึงการที่ปริมาณการปล่อยคาร์บอน (CO2) เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมาวิธีการต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ลดมลพิษทางอากาศ เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน ส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงาน โดยไม่ได้เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ข้อดีของพลังงานหมุนเวียนต่อระบบสาธารณสุข

  1. ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย: การติดตั้งระบบพลังงานหมุนเวียนสามารถลดค่าใช้จ่ายในการใช้ไฟฟ้าในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลได้อย่างมาก ทำให้มีงบประมาณมากขึ้นในการพัฒนาบริการและเทคโนโลยีทางการแพทย์
  2. การเพิ่มศักยภาพในการให้บริการ: การลดการใช้พลังงานฟอสซิลช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพในประชาชน การใช้พลังงานสะอาดจึงช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น
  3. มีส่วนในการพัฒนาชุมชน: โครงการติดตั้งระบบพลังงานหมุนเวียนในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพส่วนตำบลไม่เพียงแต่ช่วยลดค่าใช้จ่าย ยังช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน ผ่านการจ้างงานในการติดตั้งและบำรุงรักษา
  4. การสร้างความตระหนักรู้ต่อชุมชน: การนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ยังช่วยให้ชุมชนและประชาชนที่ใช้บริการสาธารณสุขตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเข้าใจในเรื่องพลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น
  5. โรงพยาบาลที่ยั่งยืน: การนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในโรงพยาบาลยังสามารถช่วยให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพส่วนตำบลสามารถดูแลและพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว และเข้าสู่หลักการสู่ความยั่งยืนได้ตามหลักสากล

แนวทางการพัฒนาพลังงานทดแทนในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ

การดำเนินการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนใน รพสต. ควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในด้านนโยบายและการเงิน รวมถึงการจัดทำกรอบแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจน เช่น

    • การส่งเสริมโครงการ Net Metering: การสนับสนุนให้ รพสต. สามารถส่งไฟฟ้าที่ผลิตได้เกินความต้องการกลับไปยังกริดไฟฟ้า ช่วยเพิ่มความคุ้มค่าในการลงทุน
    • การจัดหาเงินทุนสนับสนุน: การจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการติดตั้งระบบพลังงานหมุนเวียนใน รพสต. โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล
    • การฝึกอบรมและการพัฒนาทักษะ: การจัดให้มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ใน รพสต. เกี่ยวกับการใช้งานและบำรุงรักษาระบบพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การเปลี่ยนแปลงสู่การใช้พลังงานฟรีๆ ที่ไม่มีค่าใช้จ่ายไม่เพียงแค่เป็นการตอบสนองต่อความต้องการพลังงานในปัจจุบัน แต่ยังเป็นการลงทุนในอนาคตที่ดีกว่า ในด้านต่างๆ รวมถึงสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชน การใช้พลังงานหมุนเวียนจึงควรเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การพัฒนาระบบสาธารณสุขอย่างยั่งยืนในประเทศไทยในการเปลี่ยนแปลงสู่ตัวอย่างของพื้นที่แห่งความยั่งยืน เพื่อการพึ่งพาตนเองได้อย่างมีศักยภาพ สามารถเป็นตัวอย่างของพื้นที่ ที่มีการรับมือของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เริ่มปรับใช้พลังงานหมุนเวียนและลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากฟอสซิล เพื่อความเป็นธรรมและยั่งยืน

การเปลี่ยนมาใช้พลังงานฟรีๆที่ไม่มีค่าใช้จ่ายอย่างพลังงานหมุนเวียนในการพัฒนาระบบสาธารณสุข ไม่เพียงแต่ช่วยลดค่าใช้จ่าย แต่ยังเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น สู่ระบบสาธารณสุขที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อโลกในอนาคต

Share:

Facebook
Twitter
Pinterest
LinkedIn