รางวัลการจัดการขยะทะเลกลุ่มทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งบ้านมดตะนอย

ถอดแบบความสำเร็จ “บ้านมดตะนอย” กับรางวัลรางวัลการจัดการขยะทะเลกลุ่มทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

‘ปัญหาขยะทะเล’ เกิดจากการกระทำในชีวิตประจำวันของมนุษย์ เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่หรือเพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นปัญหาสะสมที่คนเมืองอย่างเราอาจมองเป็นเรื่องไกลตัว แต่หลายจังหวัดตามชายฝั่งทะเลกล่าวถึงปัญหานี้มาโดยตลอดเป็นเวลายาวนาน
กว่าที่บ้านมดตะนอยจะมาถึงวันนี้ ชาวบ้านต้องเรียนรู้ถึงต้นตอของปัญหาจนเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ซึ่งขยะทะเลส่วนใหญ่ที่ชุมชนต้องพบเจอ เป็นขยะพลาสติกอย่างพวกถุง ขวด ภาชนะใส่อาหาร และไฟแช็ก ที่มีน้ำหนักเบาและไม่สามารถย่อยสลายได้ในเวลาอันสั้น ไปจนถึงขยะชิ้นใหญ่อย่างรองเท้าแตะ หมวกกันน็อก แห อวน ลอบ ที่ถูกพัดพาไปโดยคลื่น ลม กระแสน้ำ และน้ำขึ้นน้ำลง โดยขยะพลาสติกในทะเลกว่า 80% มาจากกิจกรรมบนบก และอีก 20% มาจากกิจกรรมในทะเล

ขยะที่ถูกพัดพามาสู่ท้องทะเลนั้นส่งผลต่อชีวิตของเหล่าสัตว์ทะเล เช่น เต่าทะเล พะยูน โลมา วาฬ เมื่อสัตว์ทะเลกลืนกินขยะชิ้นน้อยใหญ่ลงไปทำให้สัตว์ทะเลเจ็บปวด ทรมาน และต้องจากไปในที่สุด ไม่เพียงแค่นั้นยังทำลายระบบนิเวศปะการัง ทำให้ทัศนียภาพเสื่อมโทรมลง โดยแรกเริ่มชุมชนบ้านมดตะนอยยังไม่มีการจัดการขยะเหล่านี้ เพราะรู้สึกว่าตนเองไม่ได้เป็นคนทิ้งขยะ และเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่ต้องจัดการ

เราตรวจเจอคนไข้เป็นมะเร็งเต้านม เราหาสาเหตุของโรค และพบว่ามาจากการใช้โฟมใส่อาหารมาเป็นเวลานาน ทำให้ชุมชนเลิกใช้โฟมอย่างจริงจัง

สำหรับ “บ้านมดตะนอย” เริ่มการจัดการขยะอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 นำโดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ที่ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น นำร่องใช้แนวทางเรื่องสุขภาวะ อาทิ ไข้เลือดออก มะเร็งเต้านม เชื่อมโยงกับปัญหาขยะพลาสติกและกล่องโฟม ผ่านกิจกรรมและข้อตกลงร่วมกันเพื่อให้ชุมชนปลอดขยะ-ปลอดโรค จนสามารถกลายเป็นหนึ่งใน “หมู่บ้านปลอดโฟม 100%” พร้อมตั้งเป้าเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้การจัดการขยะแบบครบวงจร

ชาวบ้านจะมีถุงอวนแขวนไว้หน้าบ้าน นั่นคือถุงใส่ และคัดแยกขยะเรียบร้อยแล้ว ที่เจ้าของบ้านซึ่งทั้งหมดประกอบอาชีพประมง นำเศษอวนที่ไม่ใช้แล้วเย็บทำเป็นถุงใช้แทนถุงดำใส่และคัดแยกขยะ จากนั้น นำส่งให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านมดตะนอย เป็นฝ่ายรวบรวมนำไปคัดแยก และส่งไปปลายทางที่ต้องการขยะเหล่านั้น นอกจากนั้น จะเห็นป้ายรณรงค์ลดขยะติดไว้ตามจุดต่าง ๆ ในหมู่บ้าน ส่วนหน้าบ้านโดยเฉพาะร้านขายของชำ ร้านอาหารต่าง ๆ จะมีป้ายแขวนไว้หน้าบ้านว่า “ร้านนี้ใส่ใจสุขภาพ ไม่ใช่กล่องโฟมบรรจุอาหาร” ทำโดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านมดตะนอย


ส่วนขยะทะเลที่ถูกน้ำทะเลหนุนเข้ามาตามลำคลอง ก็มีการใช้อวนดักจับขยะ เป็นจุด ๆ รวม 5 จุด เพื่อป้องกันขยะทะเลขึ้นมาริมฝั่ง และป้องกันขยะครัวเรือนลงไปกับน้ำทะเล

กระทั่งในปี 2559 ชุมชนบ้านมดตะนอยได้ประกาศเป็นหมู่บ้านปราศจากโฟม และได้รับรองจากกรมอนามัยให้เป็นหมู่บ้านปลอดโฟมในปี 2560

นอกจากนี้ ยังมีโครงการการจัดการขยะชุมชนชายฝั่งทะเล โดยให้แต่ละครัวเรือนคัดแยกขยะเป็น 4 ประเภท เพื่อนำไปสร้างมูลค่าและใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ ขยะทั่วไป เช่น นำเศษอวนมาทำถุงคัดแยกขยะแทนถุงดำ นำหลอดน้ำหวานมาตัดยัดทำหมอนให้ผู้สูงอายุ ใช้สำหรับรองแขนขณะบริจาคเลือด เศษผ้าขี้ริ้วและเศษอวนมาเย็บทำเป็นผ้าเช็ดเท้า ขยะย่อยสลายยากมายัดขวดพลาสติกใช้แทนอิฐทำกำแพง ขยะอันตราย จะนำส่งองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะลิบง เพื่อกำจัดอย่างถูกวิธี เปลือกมะพร้าวทำปู พะยูน กะลามะพร้าว ทำเป็นโคมไฟ ของที่ระลึก เป็นต้น


จากความร่วมมือดังกล่าวทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม คือ สามารถลดขยะในชุมชนทั้งที่เกิดจากครัวเรือน และขยะทะเลได้ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ โดยชาวบ้านทุกคนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยในส่วนของขยะทะเลที่ขึ้นมากับน้ำทะเลที่หนุนสูงขึ้นมาในลำคลองสาขา ทางชุมชนก็ได้ติดตั้งอวนขวางไว้กลางคลอง กว้างประมาณ 60 เมตร เป็นระยะ ๆ รวมทั้งหมด 5 จุด หรือ 5 ชั้น ของลำคลอง เมื่อน้ำทะเลหนุนมีขยะขึ้นมา หรือน้ำทะเลลงขยะจากบ้านเรือนก็จะไม่ลงทะเลไปกับน้ำ แต่จะติดอยู่กับอวน ชาวบ้านก็จะลงไปเก็บขยะในเวลาน้ำลง ทั้งนี้ ตั้งเป้าว่าภายในปี 2565 บ้านมดตะนอยจะเป็นชุมชนปลอดขยะ 100 เปอร์เซ็นต์ และพร้อมที่จะเป็นถ่ายทอดการจัดการขยะชุมชนชายฝั่งให้แก่สังคมภายนอก จึงมีหน่วยงานต่าง ๆ เดินทางไปศึกษาดูงานเป็นจำนวนมาก